วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

2. ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย ( Background & Rationale )


ภัทรา นิคมานนท์ (2542:30-31) กล่าวว่า เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่า ทำไมผู้วิจัยจึงสนใจทำวิจัยปัญหานี้ โดยชี้ให้เห็นสภาพของปัญหาทั่วไปที่เป็นอยู่ในขณะนั้นว่า มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร อย่างไร ได้มีใครทำการศึกษาค้นคว้ามาแล้วหรือยัง ผลการศึกษาที่มีผู้ทำมาก่อนเป็นอย่างไรบ้าง สามารถคลี่คลายปัญหาลงได้หรือไม่ ปัญหานั้นผู้วิจัยคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบหรือหาทางแก้ไขอย่างไรบ้าง หากผู้วิจัยได้ศึกษาปัญหานี้แล้วจะเกิดประโยชน์หรือผลดีอย่างไรบ้าง เป็นการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องการวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยจะต้องแสดงให้เห็นว่างานของตนนั้นสำคัญแก่การสร้างความก้าวหน้าในทางวิชาการ หรือการปฏิบัติงานในแขนงที่ตนเกี่ยวข้องอย่างไร การแสดงเหตุผล และการอธิบายควรทำให้ชัดเจนเพียงพอที่ผู้อ่านสามารถประเมินคุณค่าของเรื่องที่จะทำวิจัยได้ว่า ควรแก่การลงทุน ลงแรงในการทำวิจัยหรือไม่เพียงไร ถ้าผู้วิจัยสามารถอธิบายให้เห็นความสำคัญได้เด่นชัดเพียงไร ก็จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความคิดของผู้วิจัย และสามารถประเมินคุณค่าของงานวิจัยได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
การเขียนความเป็นมาของการวิจัย อาจนำเสนอเป็นขั้นตอนดังนี้
1.สภาพปัญหาหรือความไม่สมบรูณ์ของสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจขณะนั้น
2.ผลเสียหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไปจากสภาพปัญหานั้น หากไม่ได้รับการแก้ไข
3.แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อแก้ปัญหานั้น
4.ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาหรือทำวิจัยปัญหานั้น

พิสณุ  ฟองศรี (2549:21) กล่าวว่า การเขียนความเป็นมาควรใช้ความคิดของผู้วิจัยเองให้มากที่สุดในลักษณะความเรียง การอ้างอิงงานวิจัย เอกสาร หรือคำพูดใครก็เลือกเฉพาะที่เด่นๆเท่านั้น การเขียนต้องโน้มน้าวให้ผู้อ่านคล้อยตามโดยใช้เหตุผลว่าทำไมถึงทำวิจัยเรื่องนี้ เช่น ความสำคัญของพฤติกรรมที่จะให้เกิดในตัวผู้เรียน ถ้าขาดแล้วจะเสียหายอย่างไร ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ถ้ามีแล้วจะดีอย่างไร สภาพปัจจุบันยังประสบปัญหาอยู่แก้ไขไม่ได้หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร มีวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขหรือพัฒนาอย่างไร ถ้าแก้ไขได้แล้วจะลดปัญหาหรือดีขึ้นอย่างไร ฯลฯ เหตุผลที่ใช้ยิ่งมากตามความเหมาะสมก็จะยิ่งมีความหนักแน่นขึ้น ภาษาที่ใช้ควรถูกต้อง กะทัดรัด ตรงจุด เขียนบรรยายความเรียงให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยอาจมีลักษณะเป็นรูปกรวยจากใหญ่ไปหาย่อย ในหนึ่งหน้าควรมี 3-5 ย่อหน้า ย่อหน้าละ 1 ประเด็น ก่อนจะถึงย่อหน้าสรุปควรนำเข้ามาสู่จุดจะทำในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญคืออย่างเขียนวกวนไปมา จะทำให้เสียเวลา ผู้อ่านรู้สึกสะดุดและเปลืองเนื้อที่


นพเก้า ณ พัทลุง (2548:15) กล่าวว่า ความเป็นมาของการศึกษาหรือวิจัยว่า สาเหตุของการศึกษามาจากอะไร มีความสำคัญแค่ไหนและอย่างไร และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

สรุปได้ว่า     การเขียนความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่า ทำไมผู้วิจัยจึงสนใจทำวิจัยปัญหานี้ มีการอ้างอิงงานวิจัย เอกสาร หรือคำพูดใครก็เลือกเฉพาะที่เด่นๆเท่านั้หากผู้วิจัยได้ศึกษาปัญหานี้แล้วจะเกิดประโยชน์หรือผลดีอย่างไรบ้าง เป็นการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องการวิจัยเรื่องนี้ ภาษาที่ใช้ควรถูกต้อง กะทัดรัด ตรงจุด เขียนบรรยายความเรียงให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยอาจมีลักษณะเป็นรูปกรวยจากใหญ่ไปหาย่อย

ที่มา
ภัทรา นิคมานนท์.(2542).ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:อักษราพิพัฒน์
พิสณุ ฟองศรี.(2549).วิจัยชั้นเรียน หลักการและเทคนิคปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์งาม.
นพเก้า ณ พัทลุง.(2548).การวิจัยในชั้นเรียน หลักการและแนวคิดสู่ปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 1: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น