วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

1.ชื่อเรื่อง ( The Title )


ภัทรา  นิคมานนท์  (2542:30) กล่าวว่า ชื่อเรื่องการวิจัยเป็นส่วนแรกที่จะสื่อความหมายให้ผู้อ่านทราบว่าผู้วิจัยจะทำการศึกษาเรื่องอะไร ใช้แบบแผนการวิจัยแบบใด การกำหนดชื่อเรื่องให้น่าสนใจจะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะติดตามอ่านงานวิจัยได้ ฉะนั้นการกำหนดชื่อเรื่องควรใช้ภาษาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย มีลักษณะชี้นำให้ผู้อ่านทราบลักษณะเด่นของปัญหาการวิจัย ชื่อเรื่องการวิจัยไม่ควรกำหนดให้ยาวเกิน หรือใช้ศัพท์เทคนิคมากไปจนทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง

นพเก้า ณ พัทลุง (2548:15) กล่าวว่า ชื่อเรื่องมีความสอดคล้องกับคำถามของการวิจัย ต้องบอกได้ว่าการวิจัยนั้นจะศึกษาอะไรกับใคร โดยวิธีใด และในบางเรื่องบอกด้วยว่าที่ไหน การตั้งชื่อเรื่องควรเขียนให้มีความน่าสนใจ ใช้ภาษาที่กระชับรัดกุมและชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย ไม่ยาวจนเกินไป ส่วนใหญ่แล้วชื่อการวิจัยมักขึ้นต้นด้วยคำนาม เช่น ผลการใช้การสอนแบบร่วมมือต่อการพัฒนาเชาว์อารมณ์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านรักเด็ก

บุญชม    ศรีสะอาด (2545:14)   กล่าวว่า ชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่ศึกษา มีความเฉพาะเจาะจง ใช้ภาษาที่กะทัดรัดมีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับเรื่องอื่นๆที่มีผู้วิจัยแล้วต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของชื่อเรื่องที่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นสองตัวอย่าง

สรุปได้ว่า     ชื่อเรื่องการวิจัย ต้องตรงกับปัญหาที่ศึกษา และมีความสอดคล้องกับคำถามของการวิจัย มีความน่าสนใจ เฉพาะเจาะจง ใช้ภาษาที่กระชับรัดกุมและชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย ไม่ยาวจนเกินไปและไม่ซ้ำซ้อน

ที่มา
ภัทรา นิคมานนท์.(2542).ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:อักษราพิพัฒน์
นพเก้า ณ พัทลุง.(2548).การวิจัยในชั้นเรียน หลักการและแนวคิดสู่ปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 1: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ.
บุญชม    ศรีสะอาด.(2545).การวิจัยเบื้องต้น.สุวีริยาสาส์น.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น